วิธีการ ฝึกกีตาร์โปร่งให้เป็นเร็วด้วยตัวเอง

ทำความเข้าใจพื้นฐานเบื้องต้น

  1. 1
    ดูให้แน่ใจว่ากีตาร์ของคุณตั้งสายตรงแล้ว. ให้หาจูนเนอร์ไฟฟ้ามาสักอัน แล้วเอามาเช็คให้แน่ใจว่ากีตาร์ของคุณเสียงไม่เพี้ยนจริงๆ เพราะถ้าเกิดว่าคุณพยายามจะฝึกเล่นเพลงต่างๆ ด้วยกีตาร์ที่ตั้งสายไม่ตรง นั่นอาจจะทำให้คุณสับสนได้ โดยบทเรียนส่วนใหญ่ที่คุณเจอในอินเทอร์เน็ตนั้นมักจะตั้งสายแบบมาตรฐานหรือที่เรียกกว่า Standard tuning
    • การตั้งสายแบบมาตรฐานจะนับไล่มาตั้งแต่สายบนจนถึงสายล่าง ซึ่งก็จะตรงกับโน้ต E A D g b e[1]
    • ให้คุณดีดสายเปิดบนกีตาร์ทุกสายและเช็คดูว่าเสียงโน้ตที่ออกมานั้นตรงกับที่จูนเนอร์บอกหรือเปล่า
  2. 2
    จับและวางกีตาร์ให้ถูกวิธี. หากคุณนั่งเล่น จะมี 2 วิธีในการจับและวางกีตาร์ ถ้าอยากจะนั่งเล่นแบบธรรมดา ให้คุณวางกีตาร์บนขาข้างขวาหรือข้างที่คุณถนัด ส่วนอีกวิธีหนึ่งก็คือ วิธีแบบคลาสสิก ซึ่งผู้เล่นจะต้องวางกีตาร์ไว้บนขาข้างซ้ายหรือข้างที่ไม่ถนัดนั่นเอง ซึ่งทั้งสองวิธีนี้ คุณต้องเช็คด้วยว่าได้วางกีตาร์ไว้ติดกับลำตัวของตัวเองแล้ว ถ้าวางตำแหน่งกีตาร์ได้ถูกต้อง มันก็จะง่ายต่อการเล่นและจะช่วยป้องกันไม่ให้คุณรู้สึกเมื่อยเวลาเล่นด้วย ดังนั้น ให้คุณลองจับกีตาร์ทั้งสองแบบ และดูว่าแบบไหนที่คุณรู้สึกว่าเล่นแล้วสบายที่สุด[2]
    • สไตล์การจับแบบคลาสสิกจะทำให้คุณสามารถควบคุมการเล่นบนคอกีตาร์ได้แทบจะทุกตำแหน่ง
    • ส่วนวิธีแบบธรรมดาจะลดความเมื่อยเวลาเล่นได้
    • ในขณะที่เล่นอยู่ ให้คุณเช็คด้วยว่ากีตาร์ของคุณตั้งตรงแล้ว เพราะถ้าคุณเอียงกีตาร์เล่น นั่นอาจจะทำให้คุณปวดข้อมือได้
    • เวลาที่คุณยืนเล่น เช็คดูให้ดีว่าคุณใส่สะพายกีตาร์เอาไว้เรียบร้อยแล้ว และตัวกีตาร์ก็อยู่ติดกับลำตัวคุณโดยที่ด้านบนสุดของกีตาร์อยู่บนหน้าอกคุณ[3]
    • วางท่าทางให้ผ่อนคลายเวลาเล่นกีตาร์
  3. 3
    เรียนรู้ความแตกต่างระหว่างคอร์ดและตัวโน้ต. คอร์ดจะเกิดขึ้นได้ก็ต่อเมื่อคุณเล่นโน้ตพร้อมกัน 2 ตัวขึ้นไปบนสายต่างๆ เพื่อสร้างเสียงประสานให้เป็นหนึ่งเดียวกัน ซึ่งนี่คือสิ่งที่ทำให้เกิดคำว่า “ริทึ่ม” ในดนตรีอะคูสติกนั่นเอง ส่วนตัวโน้ตเดี่ยวๆ นั้นมักจะใช้สำหรับเล่นโซโล่ และจะเกิดขึ้นเวลาที่คุณเล่นออกมาเป็นโน้ตเดี่ยวๆ ซึ่งทั้งสองอย่างนี้คือทักษะที่คุณจะต้องฝึกให้คล่องเวลาที่คุณกำลังเรียนรู้วิธีเล่นกีตาร์โปร่ง[4]

ส่วน2
เรียนรู้คอร์ดพื้นฐานง่ายๆ ก่อน

  1. 1
    เรียนรู้พื้นฐานการจับคอร์ดเปิด. คอร์ดเปิด คือ คอร์ดที่ถูกเล่นในส่วนบนสุดของคอกีตาร์ ใกล้ๆ กับลูกบิดตั้งสาย ซึ่งเวลาที่คุณจะเล่นกีตาร์โปร่ง การที่คุณรู้ว่าคอร์ดเปิดต้องจับแบบไหนนั้นเป็นสิ่งที่สำคัญมากสำหรับการเล่นในจังหวะริทึ่มแบบเพลงป็อบๆ ดังนั้น ให้คุณลองดูว่าคอร์ดง่ายๆ อย่างคอร์ด E minor และ A major นั้นจับแบบไหน เพื่อที่คุณจะได้เข้าใจรูปคอร์ดของคอร์ดเหล่านั้น[5]
    • คอร์ดเปิดสำหรับมือใหม่ส่วนใหญ่ก็จะเป็น 8 คอร์ดดังต่อไปนี้ ได้แก่คอร์ด C A G E D Am Em และคอร์ด Dm
    • อย่าเพิ่งตกใจและงงกับจำนวนของคอร์ดเปิดที่มีเยอะมากมายขนาดนี้ แค่เริ่มจากจำแค่คอร์ดสองคอร์ดก่อนก็พอ เมื่อเล่นได้แล้วก็ค่อยจำคอร์ดเปิดที่มีความซับซ้อนมากขึ้นต่อไปอีก
    • สายกีตาร์ทางด้านซ้ายสุดของตารางคอร์ดหมายถึงสายบนสุดของกีตาร์
    • สายกีตาร์ทั้ง 6 สายจะนับไล่ตั้งแต่ 1-6 เริ่มจากสายล่างสุดหรือที่เรียกกันว่าสาย 1
  2. 2
    วางตำแหน่งนิ้วที่ถูกต้องบนคอกีตาร์. จุดกลมๆ ของคอร์ดในตารางคอร์ดคือตำแหน่งการวางนิ้วที่คุณควรจะใช้บนคอกีตาร์ ตัวอย่างเช่น ในคอร์ด A major คุณก็ต้องกดไปที่สาย 2 สาย 3 และสาย 4 บนเฟรต 2 ส่วนคอร์ด E minor ต้องกดไปที่สาย 5 และสาย 4 บนเฟรต 2 โดยให้คุณกดนิ้วลงไปที่สายจนกว่าสายที่คุณกดจะอยู่ติดกับคอกีตาร์[6]
  3. 3
    ตีคอร์ดด้วยปิ๊กหรือไม่ก็ด้วยนิ้วมือ. ให้คุณใช้นิ้วกดสายด้วยรูปคอร์ดที่ถูกต้อง และลองตีคอร์ดด้วยมืออีกข้างหนึ่ง ซึ่งส่วนใหญ่กีตาร์โปร่งมักจะมีแอคชั่น (ระยะตวามสูงระหว่างสายและเฟรตบอร์ด) กีตาร์ที่สูงกว่ากีตาร์ไฟฟ้า ดังนั้น คุณอาจจะต้องใช้แรงกดให้มากหน่อยเพื่อที่จะได้เสียงที่ดี หากคุณตีคอร์ดออกมาแล้วเสียงบอด ให้คุณเพิ่มแรงกดสายลงไปอีก และถ้าหากสายกีตาร์มีเสียงหึ่งๆ หรือเสียงไม่เคลียร์อยู่ ให้คุณลองเลื่อนนิ้วให้ห่างจากแท่งโลหะที่เป็นตัวกำหนดเฟรตบนคอกีตาร์ดู[7]
    • ในตารางคอร์ด คุณจะได้เห็นสัญลักษณ์ตัว o หรือไม่ก็ตัว x อยู่บนสายต่างๆ ซึ่งนี่คือตัวกำหนดว่าคุณควรจะเล่นสายไหนและไม่ควรจะเล่นสายไหนบ้าง
    • สำหรับคอร์ด A major ให้คุณเล่นทุกสายยกเว้นสายบนสุด
    • ส่วนคอร์ด E minor ให้คุณเล่นหมดทั้ง 6 สายเลย
  4. 4
    ลองฝึกเปลี่ยนคอร์ดและเล่นทั้งสองคอร์ดไปด้วยกัน. แทนที่คุณจะตีอยู่แค่คอร์ดเดียว ให้คุณฝึกเล่นสลับไปมาระหว่าง E minor และ A major ดู โดยให้คุณตีคอร์ด E minor ขึ้นลง 4 ครั้ง ก่อนที่จะเปลี่ยนไปจับคอร์ด A major และตีคอร์ดขึ้นลงอีก 4 ครั้ง
  5. 5
    ลองใช้แพทเทิร์นการตีคอร์ดและรึทึ่มแบบอื่นๆ บ้าง. เมื่อคุณสามารถที่จะตีคอร์ดออกมาให้เสียงเคลียร์ได้แล้ว ให้คุณลองตีคอร์ดเดิมในความเร็วและจังหวะริทึ่มที่ต่างไปจากเดิมดู ซึ่งริทึ่มนั้นจะขึ้นอยู่กับแพทเทิร์นในการตีคอร์ดบวกกับระยะที่คุณกดโน้ตต่างๆ ข้างเอาไว้ โดยให้คุณลองเล่นจังหวะธรรมดาๆ อย่าง 1-2-3-4 หรือที่เรียกกันว่า 4/4 ก่อน ซึ่งเลขตัวบนนั้นจะแทนจำนวนจังหวะที่อยู่ในแต่ละห้อง ดังนั้น ให้ลองตีคอร์ดขึ้นลงในหลายๆ รูปแบบ เพื่อสร้างเสียงที่แตกต่างให้กับริทึ่มของคุณ เมื่อคุณฝึกเล่นริทึ่มนั้นจนคล่องแล้ว คุณก็จะสามารถตีคอร์ดทั้งในจังหวะที่เร็วและในจังหวะที่ช้าให้สามารถไปด้วยกันได้[8]
    • ในขณะที่คุณฝึกเล่น คุณอาจจะรู้สึกเจ็บนิ้ว ซึ่งถ้าหากคุณเจ็บจริงๆ ให้คุณหยุดพักก่อนแล้วค่อยกลับมาฝึกใหม่ทีหลัง

ส่วน3
เล่นตามแทปกีตาร์

  1. 1
    เล่นตามแทปแทนการเล่นตามโน้ตเพลง. หากคุณอ่านโน้ตไม่เป็น นั่นจะต้องใช้เวลาเยอะมาก กว่าคุณจะจดจำและอ่านโน้ตได้จนคล่อง ดังนั้น แทปกีตาร์จึงเป็นวิธีที่ง่ายกว่าในเรื่องของการเขียนเพลงสำหรับผู้เริ่มต้น เพราะว่าไม่จำเป็นต้องไปเรียนในแบบที่เป็นทางการอะไรเลย ซึ่งแทปก็แค่บอกคุณง่ายๆ เลยว่า คุณควรจะวางนิ้วไว้ตรงไหนของเฟรตบอร์ด และควรจะต้องเล่นเพลงนั้นยังไง[9]
    • โน้ตเพลงจะสามารถบอกคุณได้ว่าระยะเว้นห่างระหว่างโน้ตแต่ละตัวนั้นห่างกันเท่าไร แต่สำหรับการเล่นตามแทป คุณจำเป็นต้องฟังเพลงที่จะเล่นด้วยตัวเองก่อน
    • หากคุณสนใจอยากจะเล่นเครื่องดนตรีชนิดอื่น คุณควรจะเรียนวิธีการโน้ตด้วย
  2. 2
    เรียนรู้วิธีอ่านแทป. แทปกีตาร์จะมีเส้น 6 เส้นไว้แทนแต่ละสาย พร้อมกับหมายเลขต่างๆ ที่ใช้กำหนดตำแหน่งที่คุณควรจะวางนิ้วด้วย ซึ่งเลขพวกนี้จะแทนเฟรตที่คุณต้องกดสายลงไปเช่น a 1 หมายถึงเฟรต 1 ส่วน a 2 หมายถึงเฟรต 2 และก็เป็นในลักษณะนี้ต่อไปเรื่อยๆ ซึ่งหมายเลขที่กำหนดมาก็หมายถึงว่า ให้คุณกดลงไปที่เฟรตนั้นก่อนและดีดโน้ตนั้นออกมา และตามด้วยโน้ตตัวต่อๆ ไปตามเลขกำกับเฟรตที่อยู่บนแทป ส่วนตัวเลขที่เรียงพร้อมกันเป็นแนวตั้งนั้นหมายถึงว่า ให้คุณเล่นโน้ตเหล่านั้นพร้อมกันให้เป็นคอร์ด[10]
    • เวลาอ่านแทปให้อ่านจากซ้ายไปขวา
  3. 3
    ลองคิดดูว่าตัวเองอยากจะเรียนรู้ริฟฟ์กีตาร์แบบไหน. ให้คุณฟังเพลงที่ตัวเองชอบหลายๆ เพลงและลองเลือกเพลงที่คุณอยากเล่นมาฝึกสักเพลง โดยเวลาที่คุณจะเลือกเพลงแรกเพื่อฝึกกีตาร์นั้น ให้คุณพยายามหาเพลงที่มีทางคอร์ดง่ายๆ จากนั้นให้ฟังและดูว่าเพลงนั้นต้องเปลี่ยนคอร์ดเยอะแค่ไหน และมีความเร็วแค่ไหน ถ้าเพลงนั้นใช้คอร์ดไม่เยอะหรือฟังดูน่าจะเล่นง่าย คุณอาจจะเลือกเพลงนั้นมาฝึกเป็นเพลงแรกของตัวเองก็ได้
    • เพลงที่ง่ายต่อการฝึกเล่นกีตาร์ก็อย่างเช่น “Three Little Birds” ของ Bob Marley และเพลง “Hey There Delilah” ของ Plain White T’s รวมถึงเพลง “Upside Down” ของ Jack Johnson ด้วย[11]
  4. 4
    เปิดดูแทปของเพลงที่คุณจะฝึกในอินเทอร์เน็ต. พิมพ์ชื่อเพลงและชื่อศิลปินลงไป แล้วเสิร์ชดูแทปของเพลงนั้น เมื่อคุณหาเจอแล้ว คุณก็จะรู้ว่าศิลปินคนนี้ใช้คอร์ดและโน้ตอะไรเล่นบ้าง
  5. 5
    เปิดเพลงนั้นและเล่นตามแทปไปพร้อมๆ กัน. ให้คุณเปิดเพลงที่คุณจะเล่นไว้อีกหน้าต่างหนึ่ง แล้วเปิดแทปเพื่อเล่นไปพร้อมกับเพลงนั้น ดูตามคอร์ดและตัวโน้ตที่แทปบอกไว้ และพยายามเล่นตามตัวเลขบนแทปด้วยโน้ตที่อยู่ในเพลงนั้น โดยให้พยายามทำความเข้าใจก่อนว่าศิลปินคนนี้ใช้คอร์ดอะไรในเพลงนี้บ้าง ก่อนที่คุณจะเล่นตามเขา
    • ให้ฟังเพลงนั้นสัก 3 ถึง 4 รอบ
  6. 6
    เริ่มฝึกเล่นโน้ตตัวอื่นๆ และฝึกจับคอร์ดแบบอื่นๆ บ้าง. เมื่อคุณมีความเข้าใจพื้นฐานแล้วว่าโน้ตต่างๆ ถูกเล่นออกมายังไงในเพลงนั้น คุณอาจจะลองเริ่มต้นจับคอร์ดต่างๆ ดูเลยก็ได้ หากเพลงที่คุณจะเล่นนั้นมีแต่คอร์ดที่คุณเล่นจนชินแล้ว นั่นจะยิ่งทำให้การฝึกเพลงนั้นง่ายขึ้นไปอีก แต่ถ้าเกิดว่าเพลงนั้นใช้คอร์ดอื่นที่คุณยังไม่เคยเล่นหรือยังไม่ชิน คุณอาจจะต้องใช้เวลาสักพักหนึ่งในการปรับให้ตัวเองชินกับคอร์ดเหล่านั้น ซึ่งถ้าหากคุณไม่คุ้นเคยกับคอร์ดเหล่านั้นจริงๆ ให้คุณแยกฝึกคอร์ดพวกนั้นก่อน[12]
  7. 7
    แบ่งเพลงออกเป็นส่วนๆ และฝึกแต่ละส่วนให้คล่อง. หากคอร์ดและทางคอร์ดของเพลงนั้นเป็นสิ่งที่ใหม่สำหรับคุณ มันจะง่ายกว่า ถ้าคุณจะแบ่งมันออกเป็นพาร์ทย่อยๆ โดยให้คุณอ่านแทบเพลงนั้นก่อน และดูว่าท่อนไหนของเพลงที่คอร์ดและรึทึ่มของเพลงนั้นถูกเล่นซ้ำ จากนั้นก็ฝึกแต่ละส่วนให้คล่อง แล้วค่อยลองเล่นทั้งเพลง[13]
    • หากคุณคุ้นเคยกับคอร์ดที่เพลงนั้นใช้อยู่แล้ว คุณอาจจะลองเล่นเพลงนั้นไปพร้อมๆ กับเพลงที่เปิดขึ้นมาก็ได้
  8. 8
    เล่นเพลงนั้นไปพร้อมๆ กับเพลงจริง. เมื่อคุณเล่นแต่ละท่อนของเพลงได้คล่องแล้ว แสดงว่าคุณคงพร้อมที่จะเล่นทั้งเพลงแล้ว ดังนั้น ให้คุณเปิดเพลงนั้นขึ้นมาและดีดกีตาร์ไปพร้อมๆ กับเพลงนั้น พยายามรักษาจังหวะการเล่นของตัวเองให้คงที่แบบในเพลง และเล่นไปตามแทป หากคุณเล่นหลุด ให้คุณเล่นตามที่แทปบอก และกลับไปเล่นใหม่เมื่อคุณพร้อม เมื่อคุณเล่นริฟฟ์เพลงนั้นได้จนคล่องแล้ว ให้คุณฝึกต่อไปเรื่อยๆ จนกว่าคุณจะสามารถเล่นได้โดยที่ไม่ต้องดูแทป
    • หากกีตาร์ของคุณให้เสียงที่ต่างจากเพลงจริง นั่นอาจจะเป็นเพราะว่าสายกีตาร์คุณเพี้ยน หรือไม่ก็อาจจะเป็นเพราะว่าคุณเล่นผิดโน้ตหรือผิดคอร์ด
    • เนื่องจากบางครั้งแทปกีตาร์จากบางเว็บถูกสร้างขึ้นโดยผู้ใช้งานในเว็บเอง แทปกีตาร์พวกนั้นจึงมักจะไม่ใช่แทปที่ตรงตามเพลงร้อยเปอร์เซ็นต์

ส่วน4
เพิ่มทักษะของตัวเองแบบรวดเร็ว

  1. 1
    ฝึกเล่นโน้ตเดี่ยวๆ . การกดสายเพื่อที่จะดีดเสียงเพราะๆ ออกมานั้นบางครั้งก็ยากกว่าที่คิด หากคุณไม่กดสายให้แรงพอ คุณอาจจะได้เสียงโน้ตแบบบอดๆ และถ้าหากคุณกดสายใกล้กับเฟรตเกินไป เสียงของโน้ตที่คุณเล่นออกมาก็อาจจะไม่เคลียร์ ดังนั้น ให้คุณฝึกดีดขึ้นลงที่สายกีตาร์ และฝึกแบบนี้ต่อไปเรื่อยๆ จนกว่าคุณจะดีดขึ้นลงกับโน้ตต่างๆ บนคอกีตาร์ได้แบบสบายๆ และให้คุณฝึกเล่นโน้ตไล่กลับไปกลับมาเรื่อยๆ จนกว่าคุณจะดีดได้แบบไม่เกร็ง
    • ให้คุณฝึกดีดโน้ตเป็นตัวๆ ไปทีละตัว จนกว่าคุณจะสามารถเล่นไล่โน้ตขึ้นลงไปมาบนคอกีตาร์ได้อย่างสบายๆ
    • ในช่วงแรกที่ฝึก คุณอาจจะดีดสายผิด ดังนั้น ให้คุณฝึกต่อไปเรื่อยๆ จนกว่ากล้ามเนื้อคุณจะจำว่าสายที่คุณจะต้องดีดนั้นอยู่ตรงไหน
  2. 2
    เรียนรู้วิธีการเปลี่ยนจากคอร์ดหนึ่งไปยังคอร์ดหนึ่ง. วิธีหนึ่งในการเล่นกีตาร์ให้คล่องได้เร็วๆ ก็คือ การเรียนรู้วิธีการเปลี่ยนจากคอร์ดหนึ่งไปอีกคอร์ดหนึ่งด้วยความรวดเร็ว ซึ่งช่วงเปลี่ยนคอร์ดนั้นมักจะเป็นสิ่งที่ทำได้ยากที่สุดสำหรับผู้เริ่มต้น ดังนั้น ยิ่งคุณฝึกเปลี่ยนคอร์ดไว้มากเท่าไร คุณก็จะยิ่งเปลี่ยนคอร์ดได้ดีขึ้นเวลาที่คุณเล่นเพลงต่างๆ ดังนั้น ให้คุณลองฝึกเปลี่ยนคอร์ดระหว่างคอร์ด G A E และ C ดู[14]
    • ให้เวลาตัวเองสักพักและใส่ใจเวลาที่กำลังจะเปลี่ยนคอร์ดไปเล่นอีกคอร์ดหนึ่ง
  3. 3
    ฝึกอย่างน้อย 20 นาที ให้ได้ 6 วันต่อสัปดาห์. การฝึกฝนอย่างสม่ำเสมอจะช่วยพัฒนาทักษะการเล่นกีตาร์ของคุณในช่วงเวลาสั้นๆ ได้ แต่การหยุดพักนานๆ และไม่ตั้งใจกับการฝึกนั้นจะทำให้กล้ามเนื้อคุณไม่จดจำสิ่งที่ฝึกไว้ และทำให้คุณพัฒนาทักษะตัวเองได้ช้า ดังนั้น ให้คุณสละเวลาสัก 20 นาทีเพื่อฝึกให้ได้เกือบทุกวัน โดยเวลาที่คุณฝึก คุณอาจจะฝึกซ้อมเทคนิคต่างๆ หรือไม่ก็ลองเล่นคัฟเวอร์เพลงสักเพลงก็ได้[15]
    • เมื่อคุณรู้สึกว่าตัวเองเล่นได้แบบไม่ต้องเกร็งแล้ว และนิ้วคุณก็ไม่ได้เจ็บมากมายอะไร คุณอาจจะซ้อมให้นานขึ้นไปอีกก็ได้
    • เมื่อเวลาผ่านไปนานๆ หากคุณฝึกฝนอย่างต่อเนื่อง ปลายนิ้วคุณก็จะด้านไปเอง และนั่นก็จะทำให้คุณเล่นกีตาร์ได้โดยที่ไม่เจ็บนิ้ว
    • หากคุณรู้สึกเจ็บที่ข้อมือ ให้คุณพักก่อน และลองปรับเปลี่ยนตำแหน่งใหม่ เพื่อที่คุณจะได้ไม่เจ็บข้อมือเวลาเล่น
  4. 4
    ดูวิดีโอสอนกีตาร์ออนไลน์. สมัยนี้มีบทเรียนออนไลน์หลากหลายรูปแบบที่จะช่วยสอนเทคนิคขั้นพื้นฐานหรือเทคนิคขั้นสูงในการเล่นกีตาร์โปร่งให้กับคุณ ดังนั้น ให้คุณลองเสิร์ชหาวิดีโอสอนกีตาร์บน YouTube หรือไม่ก็เข้าไปดูในเว็บไซต์ที่มีบนเรียนให้ฟรีก็ได้ เพราะว่ายิ่งคุณเข้าใจแนวทางในการเล่นมากขึ้นเท่าไร คุณก็จะเล่นกีตาร์ได้ดีมากขึ้นเท่านั้น
    • เว็บไซต์สอนกีตาร์ออนไลน์ของชาวต่างชาติที่เป็นที่นิยมก็จะมีทั้ง Guitar Tricks, Justin Guitar, JamPlay และ ArtistWorks[16]
  5. 5
    ดาวน์โหลดแอปฯ ที่จะมาช่วยคุณในการฝึกกีตาร์. เดี๋ยวนี้มีหลายแอปฯ ที่คุณสามารถดาวน์โหลดลงมือถือได้ ซึ่งมันเป็นแอปฯ ที่จะช่วยคุณในการเรียนรู้วิธีเล่นกีตาร์โปร่ง โดยแอปฯ เหล่านี้จะมีตั้งแต่แอปฯ ที่แนะนำคุณไปทีละสเต็ปว่าคุณต้องเล่นยังไง ไปจนถึงแอปฯ ที่ทำหน้าที่เป็นมิกเซอร์และเครื่องอัดเสียง ดังนั้น ให้คุณลองเข้าไปที่สโตร์ขายแอปฯ ของมือถือที่คุณใช้อยู่ และหาแอปฯ ประเภทนี้มาช่วยคุณในการฝึกดู
    • แอปฯ ที่คนนิยมใช้กันก็มีทั้งแอปฯ Real Guitar แอปฯ Perfect Ear และแอปฯ GuitarTuna[17]

สิ่งของที่ใช้

  • กีตาร์โปร่ง
  • ปิ๊กกีตาร์ (ใช้ก็ได้ไม่ใช้ก็ได้)
  • คอมพิวเตอร์พร้อมกับอินเทอร์เน็ต
  • ลำโพงหรือไม่ก็หูฟัง




อ้างอิ้ง
https://th.wikihow.com

ความคิดเห็น

โพสต์ยอดนิยมจากบล็อกนี้

ทำไมภาษาฝรั่งเศสถึงมีเพศ

การแต่งกายในแต่ล่ะยุคของฝรั่งเศส